วันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2558

วิวัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ


อริสโตเติล ได้อธิบายว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคมและธรรมชาติของมนุษย์ชอบอยู่รวมกันเป็นเหล่า มีการติดต่อระหว่างกัน ดำรงชีวิตภายใต้ระเบียบการปกครอง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อที่จะให้เป็นแบบแผนอันพึงปฏิบัติในการดำเนินชีวิตร่วมกันในสังคม
                ในอดีตเมื่อ 500 ปีที่แล้ว ดินแดนที่จักว่าเป็นแหล่งที่มีอารยธรรมรุ่งเรืองของโลก คือลุ่มแม่น้ำไนล์ ไทริส ยูเฟติส สินธุ และลุ่มน้ำเหลือง เป็นแหล่งที่มนุษย์ได้ดำเนินการในกิจกรรมต่างๆ เช่นความร่วมมือในด้านการชลประทาน เพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตทางการเกษตรกรรมและสิ่งอื่นๆ ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ในระยะเริ่มแรก รวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็กๆ แล้วขยายออกไปเป็นกลุ่มใหญ่ ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาทางวัฒนธรรมและความคิดทางการเมืองภายในกลุ่ม จากนั้นก็มีการติดต่อระหว่างกลุ่มและนำไปสู่การมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องไป
                
                  สมัยกรีก ในระหว่าง 200  300 ปี ก่อนคริสต์ศักราช มีภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมคล้ายๆ กัน แต่นครรัฐต่าง ไม่ค่อยมีความร่วมมือกัน มีการแข่งขันแก่งแย่งชิงดีกัน และทำสงครามกันบ่อยๆ ทำให้ขาดความสามัคคี ทำให้กรีกไม่สามารถต่อต้านภัยการรุกรานจากภายนอกได้ จึงได้ตระหนักถึงความจำเป็นของตนในการที่จะต้องมีสัมพันธไมตรีกับรัฐอื่น เพื่อตนจะได้รับผลประโยชน์บางอย่าง จึงเริ่มมีการกำหนดนโยบายของตนเองเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์กับอีกรัฐหนึ่ง และแต่งตั้งบุคคลของตนเป็นทูตทำหน้าที่เจราจรติดต่อกัน ในสมัยแรกๆ การเจราจรติดต่อในรูปการใช้ผู้ถือสาส์นระหว่างรัฐ ทำหน้าที่แจ้งข่าวของเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่ง ผู้ที่ได้รับการเจราจรติดต่อต้องเป็นบุคคลที่เป็นนักพูด มีความสามารถในการโน้มน้าวจิตใจคนในชาติอื่นๆ ให้เห็นกับนโยบาย ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของตน
                
                  สมัยโรมัน ระยะแรกได้เน้นกฎหมายระหว่างประเทศเป็นหลัก และคำนึงถึงของศิลปการติดต่อเจราจรใช้วิธีการติดต่อสัมพันธ์ ดังนี้
                                1. เป็นมิตรกับเผ่าชนใกล้เคียงด้วยการให้ความช่วยเหลือหรือยกยอ
                                2. ให้คนนอกศาสนาหันมานับถือศาสนาคริสต์
ต่อมาในระยะหลังได้หาข้อเท็จจริงและข่าวสารภายในประเทศ อื่น ระยะนี้ยังไม่มีการส่งทูตไปประจำถาวร เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 15อิตาลีส่งทูตไปประจำที่ต่างๆ ส่วนกฎเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับตัวแทนของตนที่ไปประจำในอีกประเทศหนึ่งมามีอย่างจริงจังก็ต่อเมื่อหลังคริสต์ศตวรรษ 1815 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มมีการตกลงกันระหว่างนานาประเทศ ในช่วงระหว่าง ค.ศ.1815-1818 ประเทศต่างๆ ได้มีการประชุมกันที่นครเวียนนา มีการวางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับอันดับอาวุโสของตนแทนประเทศ
                สมัยโรมัน ประมาณราว 350 ปีก่อนคริสต์ศตวรรษ โรมันได้ขยายอำนาจของตนออกไปอย่างกว้างขวาง และสมารถครอบครองดินแดนต่างๆ เอาไว้ โดยใช้มาตรการรุนแรง ใช้กำลังปราบปรามได้มีการอกกฎหมาย วางกฎเกณฑ์และระเบียบต่างๆ เพื่อบังคับใช้ภายในและใช้ในการติดต่อกับรัฐอื่น
               
               สมัยฟิวดัล ศริสต์ศตวรรษที่ 10 เป็นสมัยการใช้นโยบายการใช้กำลังเลือดและเหล็ก และได้ดำเนินเรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่ 15 กษัตริย์มีฐานะเป็นสัญลักษณ์ของเอกภาพ เพราะมีองค์การคริสต์ศาสนาสนับสนุนและอำนาจของกษัตริย์มีอยู่ในทางทฤษฎีเป็นส่วนใหญ่ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในยุดนี้อยู่ในยุดมืด
               
               สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา มีการตื่นตัว การคิดค้นวิชาการต่างๆ มีศาสตร์ใหม่ๆ เกดขึ้นมากมาย
                ทางด้านศาสนา มีการเปลี่ยนแปลง เดิมพระสันตะปาปาเคยมีอำนาจมากและมักจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ได้ก่อนให้เกิดความไม่พอใจในหมู่กษัตริย์ มีการจัดตั้งศาสนานิกายใหม่ๆ ไม่ยอมรับอำนาจของพระสันตะปาปา ทำให้เกิดการปฏิรูปศาสนา พลังทางศาสนายังแฝงอยู่ในการเมืองในรูปศาสนาประจำชาติ มีการทำสงครามทางศาสนาระหว่างเจ้าผู้ครองนครต่างๆ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1618 ได้เกิดสงครามระหว่างพวกที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและนิกายโปรเตสแตนท์ขึ้น สงครามได้ยุติลง ค.ศ. 1648 มีการทำสัญญาสงบศึกที่มีชื่อว่า สนธิสัญญา westphalia ช่วงเวลาการทำสงครามนานถึง 30 ปี  ผลจากสงคราม ได้ช่วยปูพื้นของการมีระบบรัฐสมัยใหม่ในยุโรป โดยลดฐานะจักรวรรคโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire) ลงให้เท่าๆ กับดินแดนที่มีกษัตริย์ปกครองสมัยนั้น เช่น ฝรั่งเศส สเปน สวีเดน และอังกฤษ
                นอกจากนั้น ยังมีข้อตกลงในสนธิสัญญาเวสฟาเวีย เกี่ยวกับหลักการที่ว่า รัฐอธิปไตยที่เป็นเอกราชทั้งหลายเท่าเทียมกัน แสดงให้เห็นว่าอำนาจของสัตปาปาลดลง มีฐานะเพียงเจ้าผู้ครองนครรัฐ ซึ่งมีความผูกพันกับศาสนาและสนธิสัญญาดังกล่าว ยังชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการวางกฎเกณฑ์ที่จะคุ้มครองประชาชนในยามสงคราม มีการกล่าวถึงการปฏิบัติต่อผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บ นักโทษ ห้ามปล้น ห้ามทำลายศิลปวัตถุและการกระทำอื่นที่ไร้มนุษยธรรม
                ระบบรัฐในปี ค.ศ. 1648 ในขั้นแรกจำกัดอยู่ในยุโรป ต่อมาในปลาย ศตวรรษที่ 19 ได้แสวงหาอาณานิคมจนได้อาณานิคมมาครอบครองในภูมิภาคต่างๆ ดินแดนที่ถูกครอบครองได้รับวัฒนาธรรมและระบบต่างๆ ไปใช้ในรัฐของตน จึงทำให้เกิดความผูกพันหรือความสัมพันธ์กันขึ้นระหว่างประเทศผู้ครอบครองกับประเทศผู้ถูกครอบครอง
                การเปลี่ยนแปลงทางด้านความสัมพันธ์เริ่มเห็นชัดเจนขึ้นตั้งแต่ช่วงของสงคราม และหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อมีการทำสงครามย่อมมีฝ่ายแพ้ ฝ่ายชนะ และมีประเทศที่เข้าข้างทั้งฝ่ายแพ้และฝ่ายชนะ ทั้งผู้แพ้และชนะต้องเหน็ดเหนื่อยบอบช้ำจากสงคราม ซึ่งส่งผลกระทบในทุกๆด้าน ทำให้ต่างก็หาวิธีที่จะป้องกันมิให้เกิดสงครามขึ้นในอนาคต มีการจัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศขึ้น คือ สันนิบาตชาติ ซึ่งเป็นการแสดงออกซึ่งวัตถุประสงค์ร่วมกันในอันที่จะรักษาสันติภาพของโลกไว้ โดยทำสัญญา Kellog Briand Pact ได้กำหนดหลักการว่า ประเทศสมาชิกจะไม่ใช้สงครามเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาระหว่างกัน
                ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงกำลังปฏิวัติระบบระหว่างประเทศ (ทศวรรษที่ 1990) เป็นที่น่าสังเกตได้ว่าสหภาพโซเวียตตั้งแต่เป็นอภิมหาอำนาจ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1945 และได้ล่มสลายลงในปี ค.ศ.1991 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของโซเวียตกับกลุ่มบริวารและประเทศอื่นๆ เปลี่ยนแปลงไปด้วย (การล่มสลายเกิดจากปัญหาสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และเชื้อชาติ)
                การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1947 เป็นปีที่สหรัฐอเมริกาประกาศสงครามเย็นกับสหภาพโซเวียต ได้มีการแบ่งกลุ่มออกเป็น 2 ค่าย คือ ค่ายสหรัฐอเมริกา ที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย และสหภาพโซเวียต ที่มีการปกครองแบบสังคมคอมมิวนิสต์ ซึ่งทำให้การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผูกกับค่ายหนึ่งค่ายใดความช่วยเหลือก็จะให้ความช่วยเหลือเฉพาะประเทศที่อยู่ในค่ายของตนเอง เช่น การที่สหรัฐอเมริกาประกาศให้ความช่วยเหลือตามแผนทรูแมน โดยเจาะจงเฉพาะกรีก และตุรกีเป็นการสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของสหภาพโซเวียต และต่อมาสหรัฐอเมริกาได้ประกาศแผนมาร์แชล เพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และประเทศที่ถูกคอมมิวนิสต์คุกคาม
                การที่ประเทศสหภาพโซเวียต ล่มสลายทำให้เกิดประเทศใหม่ขึ้นหลายประเทศ การดำเนินนโยบายประเทศเป็นอิสระ ไม่ได้ถูกบีบบังคับ รัฐต่างๆ พยายามกำหนดแนวทางการสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นตัวของตัวเอง
ประเทศมหาอำนาจพยายามสร้างความเชื่อถือให้บรรดาประเทศเล็ก เห็นว่าตนเองเป็นที่พึ่งพาอาศัยได้  ประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ทำให้หลายประเทศหันมาสร้างความสัมพันธ์ด้วย ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา  และในตะวันออกกลาง เช่น ประเทศซาอุดิอารเบีย อิหร่าน คูเวต และอีกหลายประเทศที่มีทรัพยากรน้ำมันมาก
                ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 มีพลังหลายกระแสที่ไหลเข้ามา ส่งผลกระทบทำให้ระบบการเมืองระหว่างประเทศแบบเก่าต้องพังทลาย เช่น การพังทลายของระบบคอมมิวนิสต์มีสาเหตุจากพลังทางเศรษฐกิจและพลังลัทธิชาตินิยมยุดใหม่ ตลอดจนพลังของปัญหาต่างๆ ทำให้ระบบระหว่างประเทศเข้าสู่ระบบระหว่างประเทศแบบใหม่ (New International System)
                อดีตประธานาธิบดีไอเซนเฮาว์ ได้เน้นถึงบทบาททางเศรษฐกิจว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของพลังอำนาจแห่งชาติ ทางด้านประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับเอกราชใหม่ๆ ก็ได้เน้นว่าเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ การยอมรับว่าเศรษฐกิจเป็นพลังสำคัญ เป็นผลรวมของเหตุการณ์
สหรัฐอเมริกา ยุโรปตะวันตก และญี่ปุ่น ได้ตระหนักว่า จำเป็นต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานและทรัพยากรประเภทสินแร่ และอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ทำให้ยุโรปตะวันตกสร้างสหภาพเศรษฐกิจและการเงิน (Economic and Monetary Union) ขึ้น
จะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจมีควาสำคัญเท่ากับทหาร น้ำมันเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สำคัญทั้งสองอย่างมีความเชื่อมโยงกัน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในด้านการค้าทำให้รัฐในภูมิภาคต่างๆ ของแต่ละภูมิภาคมารวมกลุ่มกัน  พยายามผลักดันให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรี (Free Trade Area) ทำให้มีการเจราจรระหว่างประเทศขึ้น เช่น ยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น แต่ละรัฐสนับสนุนเขตการค้าเสรี ซึ่งจะส่งผลให้การผลิตเพิ่มขึ้น ค่าจ้าง แรงงานเพิ่มขึ้น และราคาสินค้าลดลง และเมื่อมีการแข่งขันระหว่างภูมิภาคต่างๆ อาจส่งผลทำให้เกิดสงครามทางการค้า (Trade Wars)

การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน แบ่งออกได้ 4 ระยะ
                ระยะที่ 1 ระยะก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้มีการศึกษาค้นค้าวหาหลัดฐานทางประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์อย่างแท้จริง ทำให้การศึกษาความสัมพันธ์มีความถูกต้องตรงกับความเป็นจริงมีความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด
                ระยะที่ 2 หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการเมืองระหว่างประเทศ มุ่งศึกษาถึงเหตุการณ์ระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นใหม่ๆ แต่มิได้มีการพิจารณาศึกษาถึงปัญหาทางการเมือง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในการทำให้เกิดสงครามหรือสันติภาพ
ระยะที่ 3 เป็นระยะที่มีการศึกษาถึงสถาบันระหว่างประเทศ เช่น ทูตและกงสุล ควบคุมกับการศึกษากฎหมายระหว่างประเทศ และการจัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศตลอดจนศึกษาความคิดในเรื่องดุลแห่งอำนาจ
ระยะที่ 4 ระยะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงปัจจุบัน การศึกษาได้มีการพัฒนามาเป็นลำดับ เริ่มการศึกษาเรื่องกำลังและอิธิพลต่างๆ ที่ก่อให้เกิดพฤติกรรม มีการศึกษาปรับปรุงข้อขัดแย้งต่างๆ ศึกษาเรื่องการดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจและผลประโยขน์ของชาติ ตลอดจนทำการศึกษาสิ่งแวดล้อมทางการเมืองที่มีอิทธิพลต่อกฎหมายการเมืองระหว่างประเทศ
ปัจจุบันการศึกษาได้มุ่งเน้นในเรื่องการวิจัยพฤติกรรมระหว่างประเทศโดยอาศัยสถิติ ตัวเลข และการทดสอบ ผลคือทำให้มีการสร้างทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากขึ้น

การสิ้นสุดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
                การตัดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นวิธีการเตือนอย่างหนึ่งของรัฐต่อการกระทำของรัฐอื่น ที่ทำให้ตนเองไม่พอใจ เช่น ปี ค.ศ.1908 สหรัฐอเมริกาตัดความสัมพันธ์กับเวเนซุเอลา และในปี ค.ศ.1909 ตัดความสัมพันธ์กับนิการากัว และอังกฤษได้ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับโซเวียต ในปี ค.ศ. 1927 ซึ่งอังกฤษได้กล่าวหาว่ารัสเซียได้กระทำการโฆษณาเป็นปฏิปักษ์กับอังกฤษ หรือกรณีที่ประเทศชิลีไล่ผู้แทนทางการทูตของยูโกสลาเวียออกนอกประเทศเนื่องจากว่าได้มีการยุยงให้เกิดการนัดหยุดงานในปี ค.ศ. 1947 ยูโกสลาเวียจึงประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับชิลี
                การตัดความสัมพันธ์ทางการทูตไม่ผิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากประกาศความสัมพันธ์ทางการทูตแล้วจะต้องมีการประกาศยกเลิกสนธิสัญญาที่มีอยู่ทั้งหมด เพื่อไม่ให้มีพันธะต่อกัน
                บางครั้งความไม่พอใจที่เกิดขึ้นนั้นถึงขั้นรุนแรง ประเทศที่ไม่พอใจอาจจะประกาศสงครามต่อรัฐคู่กรณี จึงเป็นอันว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐทั้งสองสิ้นสุดลง


       




อ้างอิง : https://www.gotoknow.org/posts/179283

กฎหมายระหว่างประเทศ

กฎหมายระหว่างประเทศ


ลักษณะทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศ 
1.ลักษณะเฉพาะของกฎหมายระหว่างประเทศ
  • กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับ
  • กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่มาจากรัฎฐาธิปัตย์ รัฎฐาธิปัตย์ คือ ผู้ซึ่งประชาชนส่วนมายอมรับนับถือว่าเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดินหรือบ้านเมืองนั้น และผู้มีอำนาจไม่ต้องรับฟังอำนาจของผู้ใดอีก
  • กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้บังคับทั่วไป
  • กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ
2.กฎหมายระหว่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายภายในประเทศใช่หรือไม่
  • ตามหลักคอมมอนลอว์ กฎหมายระหว่างประเทศเป็นกฎหมายภายใน
  • ตามหลักประมวลกฎหมาย ( นักกฎหมายในประเทศภาคพื้นยุโรป )
กฎหมายระหว่างประเทศไม่เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายภายใน นักกฎหมายมีแนวคิดเกี่ยวกับปัญหานี้แตกต่างกันไป ดังนี้ 
1.ทฤษฎีเอกนิยม
มีหลักว่า ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายภายในหรือระหว่างประเทศ มิได้เกิดจากความสมัครใจของรัฐ ซึ่งในบางกรณีอาจโดยใจสมัครก็ได้ ทฤษฎีเอกนิยมจึงอาจเรียกกฎหมายว่า กฎหมายตามความเป็นจริง

2.ทฤษฎีทวินิยม
มีหลักว่า ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายภายในหรือระหว่างประเทศ ย่อมเกิดจากใจสมัคร เรียกว่า กฎหมายใจสมัคร

3.ความแตกต่างระหว่างกฎหมายภายในกับกฎหมายระหว่างประเทศ
  • มูลฐานแห่งกฎหมายไม่ว่าจะเป็นกฎหมายภายในหรือระหว่างประเทศ ย่อมมีมูลฐานมาจากความยินยอมและการแสดงเจตนา
  • การบังคับใช้กฎหมาย
    - กฎหมายระหว่างประเทศกระทำได้ระหว่างรัฐหลายรัฐที่ได้แสดงเจตนาไว้แต่เบื้องต้น
    - กฎหมายภายในใช้บังคับได้แต่เพียงในรัฐใดรัฐหนึ่งเท่านั้น
  • การชี้ขาดปัญหาขัดแย้ง
    - การชี้ขาดปัญหาขัดแย้งเกี่ยวกับกฎหมายภายใน เป็นหน้าที่ของศาลยุติธรรมภายในประเทศ
    - กรณีมีข้อพิพาทระหว่างประเทศ สถาบันที่มีหน้าที่ในการชี้ขาดปัญหา ได้แก่ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ 
  • หลักเกณฑ์ของการบัญญัติกฎหมาย
    - กฎหมายระหว่างประเทศ บัญญัติโดยความยินยอมของแต่ละประเทศ
    - กฎหมายภายในประเทศ บัญญัติขึ้นโดยดุลยพินิจของรัฐ   
    



ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ


ความหมาย

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หมายถึง การแลกเปลี่ยนและปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นข้ามเขตพรมแดนของรัฐ ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยรัฐหรือตัวแสดงอื่น ๆ ที่ไม่ใช่รัฐ ซึ่งส่งผลถึงความร่วมมือหรือความขัดแย้งระหว่างประเทศต่าง ๆ ในโลก
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล กลุ่มบุคคล หรือสังคม ซึ่งเกิดขึ้นข้ามขอบเขตของกลุ่มสังคมการเมืองหนึ่ง ๆ ในกรณีความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยด้วยกัน หรือกลุ่มคนไทยด้วยกันในประเทศไทย ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับคนลาวถือว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือ และความขัดแย้งระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขในสังคมโลก

ลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือการแลกเปลี่ยนและปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นข้ามเขตพรมแดนของรัฐดังที่กล่าวข้างต้นนั้น อาจมีลักษณะแตกต่างกัน ดังนี้
1. ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาจกระทำอย่างเป็นทางการโดยรัฐ หรือโดยตัวแทนที่ชอบธรรมของรัฐ เช่นการประชุมสุดยอด การดำเนินการทางการฑูต การแถลงการณ์ประท้วง การยื่นประท้วงต่อองค์การสหประชาชาติ หรืออาจเป็นการกระทำไม่เป็นทางการ เช่น การก่อการร้าย การกระทำจารกรรม การโจมตีประเทศหนึ่งโดยสื่อมวลชนของอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งไม่ได้กระทำการในนามของรัฐ เป็นต้น
2. ความสัมพันธ์ในลักษณะร่วมมือหรือขัดแย้ง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น หากไม่ร่วมมือก็ขัดแย้ง ความสัมพันธ์ในลักษณะขัดแย้ง เช่น สงคราม การแทรกแซงบ่อนทำลาย การขยายจักรวรรดินิยม การผนวกดินแดนของอีกประเทศหนึ่ง ส่วนความร่วมมือ ได้แก่ การกระชับความสัมพันธ์ทางการฑูต การร่วมเป็นพันธมิตร การให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและวัฒนธรรมเป็นต้น อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ต่าง ๆ นี้อาจมีลักษณะผสมผสานกันได้ เช่น บางครั้งรุนแรง บางครั้งนุ่มนวล บางครั้งเป็นทางการ บางครั้งกึ่งทางการ หรือบางครั้งร่วมมือในเรื่องหนึ่งแต่ขัดแย้งในอีกเรื่องหนึ่ง เป็นต้น

ขอบเขตของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีขอบเขตที่ครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
1. ความสัมพันธ์ทางการเมือง หมายถึง กิจกรรมข้ามพรมแดนเพื่อมีอิทธิพลหรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตลอดจนการตัดสินใจขององค์การหรือรัฐบางต่างประเทศ เช่น การดำเนินการทางการฑูต การทหาร การแสวงหาพันธมิตร การแทรกแซงบ่อนทำลายประเทศอื่น การใช้กำลังบีบบังคับ การกำหนดและดำเนินนโยบายต่างประเทศ เป็นต้น กิจกรรมบางเรื่องอาจไม่เป็นกิจกรรมการเมืองโดยตรง แต่หากมีวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น ก็ถือเป็นกิจกรรมการเมืองเช่นกัน เช่น การแลกเปลี่ยนทีมนักปิงปองระหว่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี พ.ศ. 2514 มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองเนื่องจากประเทศทั้งสองต้องการใช้กีฬาเป็นเครื่องมือผ่อนคลายความตึงเครียด และรื้อฟื้นความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ หลังจากเป็นศัตรูกันมาตลอด กิจกรรมเช่นนี้เรียกว่า การเมืองระหว่างประเทศ
2. ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ หมายถึง กิจกรรมการแลกเปลี่ยนทรัพยากรด้านบริการหรือวัตถุเพื่อตอบสนองความต้องการในการอุปโภคของผู้แลกเปลี่ยน เช่น การซื้อขายสินค้า การให้ทุนกู้ยืม การธนาคาร เป็นต้น เนื่องจากแต่ละประเทศมีทรัพยากรแตกต่างและไม่เท่าเทียมกัน และยังต้องการทรัพยากรของประเทศอื่นหรือบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกามีทรัพยากรน้ำมัน แต่ยังต้องการรักษาน้ำมันสำรองในปัจจุบันจึงซื้อน้ำมันจากประเทศเม็กซิโก และประเทศอาหรับ ความต้องการทรัพยากรซึ่งกันและกันเช่นนี้ทำให้เกิดความสัมพันธ์เพื่อแลกเปลี่ยนทรัพยากร (วัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เกษตรกรรม เทคโนโลยี บริการ ฯลฯ) โดยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าโดยการซื้อขาย ให้ แลกเปลี่ยน ยืม ก็ตาม โดยมีกฎเกณฑ์หรือแนวทางปฏิบัติบางประการทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น การกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร การปิดล้อมทางเศรษฐกิจ การตั้งกำแพงภาษี การกำหนดอัตราหุ้นและดอกเบี้ย เป็นต้น ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเช่นนี้ เรียกว่า เศรษฐกิจระหว่างประเทศ
3. ความสัมพันธ์ทางสังคม หมายถึง กิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์ในการแลกเปลี่ยนทางการศึกษา การศาสนา วัฒนธรรม การพักผ่อนหย่อนใจ การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ทางสังคมข้ามขอบเขตพรมแดนของรัฐ เช่น การส่งฑูตวัฒนธรรมหรือคณะนาฎศิลป์ไปแสดงในประเทศต่าง ๆ การเผยแพร่ศาสนาโดยตัวแทนทางศาสนาของประเทศอื่น การเผยแพร่ศิลปะของประเทศหนึ่งในประเทศอื่น เป็นต้น
4. ความสัมพันธ์ทางกฎหมาย เมื่อมีการแลกเปลี่ยนและปฏิสัมพันธ์ข้ามเขตพรมแดนของรัฐมากขึ้น เพื่อให้กิจกรรมดังกล่าวดำเนินไปโดยเรียบร้อยและมีระเบียบแบบแผน ประเทศต่าง ๆ จึงได้กำหนดกฎเกณฑ์ ระเบียบ หรือแนวทางปฏิบัติที่แต่ละประเทศพึงยึดถือปฏิบัติในด้านต่าง ๆ ขึ้น กฎเกณฑ์หรือระเบียบนี้อาจปรากฏในรูปข้อตกลงลายลักษณ์อักษร ซึ่งมีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน เป็นต้นว่า สนธิสัญญา อนุสัญญา กติกาสัญญา กฎบัตร ความตกลง ฯลฯ หรืออาจเป็นความเข้าใจกันซึ่งแต่ละฝ่ายยึดถือปฏิบัติโดยไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ ซึ่งเรียกว่า กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือจารีตประเพณีต่างเรียกว่า กฎหมายระหว่างประเทศทั้งสิ้น โดยมีวัตถุประสงค์ให้รัฐ หรือตัวแสดงอื่น ๆ ระหว่างประเทศได้ประพฤติปฏิบัติตนตามกติกาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างกัน และเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคมโลก ซึ่งครอบคลุมความสัมพันธ์ด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านการเมือง เช่น สนธิสัญญาทางพันธมิตร สนธิสัญญาทางไมตรี กฎบัตร สหประชาชาติ ด้านเศรษฐกิจ เช่น สนธิสัญญาจัดตั้งกองทุนระหว่างประเทศ ข้อตกลงเรื่องการค้าและพิกัดภาษี ด้านสังคม เช่น สิทธิมนุษยชน การแลกเปลี่ยนทางการศึกษาและวัฒนธรรม ด้านเทคโนโลยี เช่น ความตกลงเรื่องการค้นคว้าในอวกาศ เป็นต้น
5. ความสัมพันธ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความสัมพันธ์ประเภทนี้มุ่งให้มีการแลกเปลี่ยนพัฒนาความรู้และความช่วยเหลือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น มีการร่วมมือกันค้นคว้าทดลองและวิจัยในบริเวณทวีปแอนตาร์กติกา การร่วมมือกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์หลายประเทศ เพื่อกำจัดโรคภัยไข้เจ็บสำคัญ เช่น โรคมะเร็ง การร่วมมือกันส่งเสริมพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ เช่น การให้รางวัลระหว่างประเทศ จัดการประชุมสัมมนาระหว่างประเทศ เป็นต้น

ผลของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและชาติต่าง ๆ มากกว่าที่เคยเป็นในอดีต เนื่องจากจำนวนประชากรโลกเพิ่มมากขึ้น ประเทศต่าง ๆ ต้องพึ่งพากันมากขึ้นในด้านต่าง ๆ และพัฒนาการของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มีผลให้โลกดูจะมีขนาดเล็กลง ซึ่งผลของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีต่อด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. ผลของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่อสังคมโลก รัฐ ประชาชนและผู้นำของประเทศความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะมีมากน้อยเพียงใดนั้น อาจพิจารณาได้ว่า ความสัมพันธ์ดังกล่าวส่งผลถึงบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดในโลก ในเรื่องนี้คำตอบที่ได้รับค่อนข้างชัดเจน คือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีผลกระทบต่อมนุษย์ทุกคนบนผืนโลกดังกล่าวต่อไปนี้
1) ด้านสังคมโลก ปัจจุบันโลก สังคมโลกเป็นที่รวมของกลุ่มสังคมที่เรียกว่า รัฐ มีระบบและกระบวนการดำเนินความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน เช่น ระบบการเมืองระหว่างประเทศ ระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างชาติมหาอำนาจมีผลกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ทางการเมืองของมหาอำนาจอื่น และกลุ่มประเทศอื่น ๆ ด้วย ตัวอย่างเช่น การที่จีนแยกตัวจากสหภาพโซเวียตและเนินนโยบายทางการเมืองที่เป็นอิสระ และต่อมาได้คบค้าทำไมตรีกับสหรัฐอเมริกาย่อมมีผลทำให้โลกซึ่งเคยถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม มีสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำได้เปลี่ยนแปลงไป ในส่วนที่เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจก็เช่นกัน เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำขึ้น โดยเริ่มต้นจากกลุ่มประเทศยุโรป ก็มีผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก หรือเมื่อค่าของเงินสกุลใหญ่ ๆ เช่น เงินดอลลาร์ตก ก็มีผลกระทบกระเทือนเศรษฐกิจของโลกตามไปด้วย
2) ด้านรัฐ นอกเหนือจากผลของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งกระทบต่อสังคมโลกและสะท้อนถึงรัฐแต่ละรัฐแล้ว รัฐยังเป็นผู้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและสัมพันธ์กับตนโดยตรงอีกด้วย ตัวอย่างเช่น การตัดสินใจดำเนินนโยบายต่างประเทศของอภิมหาอำนาจย่อมมีผลต่อการตัดสินใจของรัฐที่สังกัดกลุ่มของอภิมหาอำนาจนั้น ดังกรณีที่ประเทศพันธมิตรของสหภาพโซเวียตหลายประเทศตัดสินใจไม่เข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่สหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1984 หลังจากที่สหภาพโซเวียตประกาศไม่เข้าร่วมแข่งขันกีฬาดังกล่าว ผลต่อรัฐนี้ โดยทั่วไปจะเกิดมากในสถานการณ์ซึ่งรัฐอยู่ร่วมในสมาคม กลุ่มโอลิมปิก หรือในสถานการณ์ซึ่งรัฐอยู่ใกล้เหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบอาณาบริเวณใกล้เคียง ดังกรณีที่ประเทศไทยได้รับผลจากการสู้รบในกัมพูชา จนต้องแบกภาระผู้ลี้ภัยจากอินโดจีนจำนวนมาก และได้รับภัยจากการรุกล้ำดินแดนของฝ่ายเวียดนาม เป็นต้น ผลที่เกิดต่อรัฐอาจเป็นได้ทั้งในแง่ความมั่นคง ระบบโครงสร้างและกระบวนการทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมภายในรัฐ ดังจะกล่าวในหัวข้อต่อไป
3) ด้านประชาชน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งกระทบกระเทือนรัฐย่อมมีผลต่อประชาชนด้วย ผลดังกล่าวนี้ย่อมมีแตกต่างกันไป คือ อาจกระทบคนบางกลุ่มบางเหล่า หรือกระทบประชาชนโดยส่วนรวมทั้งโดยทางตรง หรือโดยทางอ้อมก็ได้ ตัวอย่างกรณีสงครามในกัมพูชานั้น ประชาชนไทยที่ได้รับความกระทบกระเทือนก็คือ พวกที่อยู่ตามบริเวณชายแดนไทยกัมพูชา เช่น ในจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ ส่วนประชาชนที่อยู่ห่างไกลออกไปได้รับผลน้อยลง
4) ด้านผู้นำของประเทศ การเปลี่ยนแปลงภายนอกประเทศ หรือเหตุการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาจมีผลต่อภาวะผู้นำภายในประเทศด้วย และอาจมีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลที่ปกครองประเทศก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่มีการแทรกแซงจากต่างประเทศ ดังตัวอย่างกรณีที่นาย โงดินห์ เดียม ต้องถูกโค่นล้มอำนาจและถูกสังหาร เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเลิกให้ความสนับสนุน หรือกรณีที่มีการตั้งรัฐบาลหุ่นและผู้นำหุ่นโดยประเทศผู้รุกราน (เช่น รัฐบาลหุ่นในแมนจูเรียสมัยที่ญี่ปุ่นเข้ารุกรานก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือรัฐบาลกัมพูชาของนายเฮง สัมริน เป็นต้น)
ผลที่เกิดต่อสังคมโลก ต่อรัฐ ต่อประชาชน และต่อผู้นำของประเทศเช่นนี้ อาจเป็นได้ทั้งในทางดีหรือทางร้ายดังจะกล่าวต่อไป
2. ลักษณะของผลที่เกิดขึ้นต่อบุคคลและกลุ่มสังคมทั้งภายในและระหว่างประเทศ วัตถุประสงค์หลักของการที่มนุษย์เข้ามารวมกลุ่มเป็นสังคมภายในรัฐ หรือสังคมระหว่างประเทศก็ตาม คือ การแสวงหาความมั่นคงในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลและสังคม วัตถุประสงค์ดังกล่าวจะบรรลุตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายประการทั้งองค์ประกอบส่วนบุคคลและองค์ประกอบจากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ องค์ประกอบสภาพแวดล้อมอาจเป็นเรื่องภายในกลุ่ม ภายในรัฐ หรือเป็นสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงนับว่ามีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์และสังคมมนุษย์ ดังปรากฏในหลายลักษณะ ดังนี้
1) ด้านความมั่นคงของชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยเฉพาะทางด้านการเมืองและการทหาร ส่งผลถึงความมั่นคงปลอดภัย เอกราชและอำนาจอธิปไตยของชาติตลอดจนเสถียรภาพทางการเมืองและบูรณภาพแห่งดินแดนของแต่ละชาติ ดังจะเห็นได้ว่าสงครามระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นรูปหนึ่งของความสัมพันธ์ที่เกิดข้ามเขตพรมแดนของรัฐ การแทรกแซงบ่อนทำลายโดยบุคคล หรือกลุ่มบุคคลซึ่งได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ ตลอดจนการใช้หรือการข่มขู่คุกคามว่าจะใช้กำลังโดยยังไม่ถึงขั้นสงคราม ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนความมั่นคงของชาติทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น การผนวกดินแดน แลตเวีย ลิทัวเนีย และเอสโธเนีย โดยสหภาพโซเวียหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือการที่รัฐซิมบับเว ถูกแทรกแซงโดยประเทศแอฟริกาใต้ เป็นต้น
ความมั่นคงของชาติซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องเอกราช บูรณภาพแห่งดินแดน และการธำรงไว้ซึ่งสิทธิแห่งรัฐอธิปไตยเป็นเรื่องที่ผู้กำหนดนโยบายของประเทศจัดเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับแรกของนโยบายต่างประเทศ ถึงแม้ความมั่นคงของชาตินี้จะได้รับการประกันได้บางส่วนโดยการพัฒนากำลังความสามารถและฐานอำนาจภายในประเทศก็ตาม แต่โดยทั่วไปแล้วความมั่นคงของชาติได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างมากจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อประกันความมั่นคงของชาติ เช่นโดยใช้วิธีการทางการฑูต การทหาร ดังกรณีการทำสัญญาป้องกันร่วมกันทั้งสองฝ่าย การรวมกลุ่มพันธมิตรทางทหาร การดำเนินการทหาร เป็นต้น
2) ด้านความปลอดภัยและการกินดีอยู่ดีของประชาชน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาจมีผลทั้งโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมต่อความปลอดภัยและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในแต่ละประเทศ กล่าวคือ นอกเหนือจากผลต่อความมั่นคงของประเทศซึ่งย่อมกระทบกระเทือนชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอยู่แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยังอาจกระทบต่อความปลอดภัย และการกินดีอยู่ดีของประชาชนโดยยังไม่กระทบความมั่นคงของประเทศโดยตรงก็ได้ ตัวอย่างเช่น กรณีที่สายการบินเกาหลีใต้ถูกเครื่องบินสหภาพโซเวียตยิงตก หรือกรณีที่ผู้ก่อการร้ายกระทำการรุนแรงในประเทศอื่น จนมีผลให้ประชาชนได้รับอันตราย เป็นต้น
3) ด้านการพัฒนา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาจมีผลต่อความพยายามของรัฐและประชาชนในการเปลี่ยนแปลงฐานะทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และเทคนิควิทยาการของตนด้วย การเปลี่ยนแปลงฐานะดังกล่าวนี้ คือ การพัฒนานั่นเอง การพัฒนาการเมืองมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเมืองไปสู่ระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ เปลี่ยนไปโดยสันติ และรองรับการกระทบกระเทือนจากภายนอกได้ด้วยดี การพัฒนาทางเศรษฐกิจมุ่งให้มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตและแลกเปลี่ยนสินค้นและบริการที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลประโยชน์ตอบแทนต่อประชาชนและรัฐได้ดีขึ้น การพัฒนาทางสังคมมุ่งให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและความสัมพันธ์ทางสังคมในประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น ปราศจากการขัดแย้งรุนแรง และการพัฒนาทางเทคนิควิทยาการมุ่งให้มีการยกระดับความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น ความพยายามให้เกิดการพัฒนานี้ส่วนหนึ่งได้รับผลจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย
จะเห็นได้ว่า การพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ในปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย ล้วนได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมทางการเมืองและเศรษฐกิจภายนอกประเทศ รวมทั้งนโยบายต่างประเทศของประเทศที่มีฐานะดีทางเศรษฐกิจและการทหาร ตัวอย่างเช่น หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติและประเทศที่มีฐานะดีมีส่วนในการช่วยเหลือบูรณะพัฒนาประเทศที่ยากจนและกำลังพัฒนาทั้งหลาย เช่นโดยการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน การลงทุน การให้คำปรึกษาหารือทางวิชาการหรือการพัฒนาคุณภาพของบุคลากรสำคัญในประเทศเหล่านี้
โดยสรุป ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีผลต่อความสงบเรียบร้อย การกินดีอยู่ดีและการพัฒนาของประชาชน รัฐ และสังคมโลกทั้งโดยตรงและโดยอ้อม จึงนับว่ามีความสำคัญ
มีคุณค่าควรแก่การสนใจติดตามทำความเข้าใจทั้งโดยนักวิชาการ ผู้กำหนดนโยบายและประชาชนโดยทั่วไป


  








    

ข้อมูลความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-สหราชอาณาจักร

ข้อมูลความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-สหราชอาณาจักร


ข้อมูลด้านเศรษฐกิจ

การค้า
สหราชอาณาจักรเป็นเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทยในกลุ่มประเทศยุโรป โดยเป็นประเทศที่ไทยส่งสินค้าออกไปมากเป็นอันดับที่ 1 ในกลุ่มประเทศยุโรป
- ประเทศไทยเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 33 ของ สหราชอาณาจักร
- มีส่วนแบ่งตลาดนำเข้าร้อยละ 0.63
- เป็นอันดับที่ 9 ในกลุ่มประเทศเอเชียรองจาก จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน อินเดีย และมาเลเซีย
- การค้าระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรในปี 2548
 ปริมาณการค้า 4,091.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ลดลงจากปี 2547 ร้อยละ 4.83)
    ไทยส่งออก 2,811.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
    ไทยนำเข้า 1,280.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
    ไทยได้เปรียบดุลการค้า 1,530.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

- การค้าระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรในปี 2549 (ม.ค.-เม.ย.49)
  ปริมาณการค้า 1,417.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
    ไทยส่งออก 1,112.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
    (เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันเมื่อปี 2549 ร้อยละ 3.45)
    ไทยนำเข้า 305.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
    (ลดลงจากช่วงเดียวกันเมื่อปี 2549 ร้อยละ 19.07)
    ไทยได้เปรียบดุลการค้า 806.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สินค้าส่งออกสำคัญของไปยังสหราชอาณาจักรที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เสื้อผ้าสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์พลาสติก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป รองเท้าและชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานและส่วนประกอบ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารในครัวและบ้านเรือน เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องยกทรง รัดทรง เป็นต้น
 สินค้านำเข้าจากสหราชอาณาจักรที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องดื่มประเภทน้ำแร่ น้ำอัดลมและสุรา เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและ ส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลิตภัณฑ์โลหะ ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์เครื่องบิน เครื่องร่อน และอุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ สินแร่โลหะอื่นๆ และเศษโลหะ เป็นต้น
สินค้ากลุ่มเป้าหมายของไทยในตลาดสหราชอาณาจักร ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหารและเครื่องดื่ม เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ยางและผลิตภัณฑ์ยาง และสินค้า OTOP
การลงทุน
สหราชอาณาจักรเป็นแหล่งเงินลงทุนจากยุโรปที่สำคัญที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5 ของ FDI ทั้งหมดในไทย
ใน ช่วงสิบปีที่ผ่านมา ( 2543 - 2548) มีโครงการลงทุนจากสหราชอาณาจักรขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI รวม 224 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวม 123.3 พัน ล้านบาท โดยโครงการส่วนใหญ่เป็นโครงการในสาขาบริการ และสาธารณูปโภค อิเลคทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมเบา
สาขาการลงทุนที่มีศักยภาพและเป็นเป้าหมาย ในการดึงดูดการลงทุนจากสหราชอาณาจักรได้แก่ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์โลหะและเครื่องจักร และอุตสาหกรรมเกษตร
สาขาที่สหราชอาณาจักรเห็นว่ามีศักยภาพในการลงทุน การส่งออกและการร่วมมือกับไทย ได้แก่ การเกษตร พืชสวนและประมง อาหารและเครื่องดื่ม การศึกษาและฝึกอบรม พลังงาน สิ่งแวดล้อม วิศวเครื่องจักรกล เครื่องไฟฟ้าและการจัดทำโครงสร้างของขบวนการผลิต (process engineering) อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (IT Hardware) โปรแกรมคอมพิวเตอร์ software และบริการคอมพิวเตอร์ลักษณะธุรกิจต่อธุรกิจ กิจกรรมช่วงเวลาว่างและการท่องเที่ยว สนามบิน อุตสาหกรรมรถยนต์และระบบทางรถไฟ
การท่องเที่ยว
นักท่องเที่ยวสหราชอาณาจักรที่เดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศไทยมากเป็นอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวจากยุโรป ใน ปี 2547 มี จำนวน 634,750 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2546 ร้อยละ 15.39
นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปท่องเที่ยวในสหราชอาณาจักรประมาณ 22,000 คน ต่อปี
ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2548 มีนักท่องเที่ยวสหราชอาณาจักรเดินทางไปยังประเทศไทย จำนวน 361,584 คน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2547 ร้อยละ 1.09 อย่างไรก็ดี สำนักงานการท่องเที่ยวประจำกรุงลอนดอน คาดว่าในปี 2548 ตลาดนักท่องเที่ยว
สหราชอาณาจักรประมาณการว่าจำนวนนักท่องเที่ยวสหราชอาณาจักรรวมตลอดปี 2548 ได้ขยายตัวมากขึ้น เป็นประมาณ 700,000 คน
นักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักรที่เดินทางไปประเทศไทย จะแบ่งตามอาชีพตามลำดับดังนี้
    (1) ผู้ประกอบอาชีพ (professionals)
    (2) ผู้ประกอบอาชีพด้านบริหาร
    (3) ผู้ประกอบธุรกิจ
    (4) แรงงาน
    (5) เกษตรกร
    (6) ข้าราชการ
    (7) แม่บ้าน
    (8) นักศึกษา
    (9) ผู้เกษียณอายุ
    (10) อื่นๆ
    (11) ไม่ระบุอาชีพ
จากข้อมูลเกี่ยวกับเช่าห้องพักในโรงแรมในประเทศ จะเห็นได้ว่า ตลาดสำหรับนักท่องเที่ยวสหราชอาณาจักร จัดเป็นตลาดของผู้มีรายได้สูงเพราะมักนิยมพักในโรงแรม 3-5 ดาว ซึ่งต่างจากนักท่องเที่ยวจากประเทศยุโรปอื่นๆ
การบิน
บริษัทการบินไทยมีเที่ยวบินที่บินใน เส้นทางกรุงเทพฯ – กรุงลอนดอน ในขณะนี้ สัปดาห์ละ 14 เที่ยวบิน
(หรือวันละ 2 เที่ยวบิน)
นอกจากนั้น ยังมีสายการบินอื่นๆ บินในเส้นทางกรุงเทพฯ-กรุงลอนดอนอีกหลายสาย เช่น สายการบินจากประเทศในตะวันออกกลางเป็นต้น
การเมือง
ไทยและสหราชอาณาจักรมีความสัมพันธ์ทางการค้ามากว่า 400 ปี ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์การติดต่อดำเนินการผ่านเมืองขึ้นของของสหราช อาณาจักรในขณะนั้น คือ อินเดีย จนมีการลงนามสนธิสัญญาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกัน เป็นสนธิสัญญาฉบับแรกเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2369 ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สหราชอาณาจักรได้ส่ง Sir John Bowring มาเป็นราชทูตและได้มีการลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและการค้า เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2398 ซึ่งนับว่าเป็นการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหราชอาณาจักรระหว่างกัน อย่างเป็นทางการ และในปี 2400 ไทยได้ส่งคณะราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับสหราชอาณาจักรเป็นการตอบแทน จนเมื่อปี 2425 ได้แต่งตั้งหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ ชุมสาย เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำสหราชอาณาจักรเป็นคนแรก
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรในปัจจุบัน ดำเนินไปอย่างราบรื่นบนพื้นฐานมิตรภาพทั้งในกรอบทวิภาคี และกรอบความร่วมมือพหุภาคี ในองค์การระหว่างประเทศเวทีความร่วมมือระดับภูมิภาค และการรักษาสันติภาพ การแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นและกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของความ ร่วมมือมากยิ่งขึ้น
มีการเยือนในระดับพระราชวงศ์อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสด็จฯ เยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ (state visit) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ระหว่างวันที่ 19-21 กรกฎาคม 2503 และเสด็จฯ ส่วนพระองค์เมื่อเดือนสิงหาคม 2509 สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ 2 ครั้ง (ครั้งแรก (state visit) เมื่อ10-15 กุมภาพันธ์ 2515 และครั้งที่สอง (state visit) ระหว่าง 28 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2539 ภายหลังการเยือนที่ พตท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มาเยือน
สหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 12 – 15 พฤษภาคม 2545 และได้หารือกับ และนายโทนี บแลร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องร่วมกันในหลักการที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ไทย-สหราช อาณาจักรในลักษณะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ซึ่งได้ระบุไว้ในแถลงการณ์ร่วมฯ ( joint statement) และในการเยือนอย่างเป็นทางการของ พตท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นครั้งที่สองเมื่อระหว่างวันที่ 12-14 ตุลาคม 2548 ทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องที่จะจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม ( Joint Plan of Action) ระหว่างกัน ซึ่งฝ่ายไทยได้จัดทำร่างแผนปฏิบัติการร่วมส่งให้ฝ่ายสหราชอาณาจักรพิจารณา แล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการ พิจารณาของฝ่ายสหราชอาณาจักร
การศึกษา
ไทยและสหราชอาณาจักรมีประวัติความร่วมมือด้านการศึกษาที่ยาวนาน มีความร่วมมือในระดับสถาบันการศึกษาใน ทุกระดับอย่างกว้างขวาง สถาบัน British Council ในประเทศไทยเป็นหน่วยงานหลักของฝ่ายสหราชอาณาจักรที่ได้มี โครงการความร่วมมือด้านการศึกษาต่างๆ กับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องของไทย
รัฐบาลไทยได้เริ่มส่งนักเรียนทุนที่เรียกว่า King’s Scholarship มารับทุนในอังกฤษเป็นประเทศแรก และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้ทรงส่งพระราชโอรสหลายพระองค์มาทรงรับการศึกษาในประเทศอังกฤษ เพื่อทรงปรับปรุงประเทศไทยให้ก้าวหน้าแบบตะวันตก
ปัจจุบันมีนักศึกษาไทยในสถาบันการศึกษาในสหราชอาณาจักรมากกว่า 4, 300 คน มีนักเรียนที่รับทุนการศึกษา จากสหราชอาณาจักรประมาณ 400 คน
กระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรได้ให้ทุนการศึกษา Chevening Scholarship แก่นักศึกษาไทยให้ไปศึกษา ในสหราชอาณาจักรในระดับอุดมศึกษาเป็นประจำทุกปี
นอกจากนั้น ภาคเอกชนอังกฤษ เช่น บริษัท Shell ได้มอบทุนการศึกษาให้นักศึกษาไทยมาศึกษาที่อังกฤษ เป็นประจำทุกปี และสถาบันการศึกษาหลายสถาบันได้มอบทุนการศึกษาให้นักศึกษาไทยมาศึกษาที่ อังกฤษ อาทิ Imperial College ได้ทำความตกลงกับรัฐบาลไทยในการให้ทุนการศึกษาให้นักศึกษาไทยมาศึกษาปริญญา เอกด้าน Biomedical Engineering ที่ Imperial College ปีละ 5 ทุน เป็นเวลา 5 ปี University of Edinburgh ได้ทำความตกลงกับรัฐบาลไทยในการให้ทุนการศึกษาให้นักศึกษาไทยมาศึกษาปริญญา ตรีขึ้นไปปีละ 5 ทุน เป็นเวลา 5 ปี เป็นต้น
ชุมชนไทยในสหราชอาณาจักร
มีชาวไทยอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรมากกว่า 36 ,000 คน ซึ่งมีกลุ่มหลักได้แก่
    (1) คนไทยที่ประกอบอาชีพ ร้านอาหารไทย โดยมีถิ่นพำนักถาวร
    (2) คนไทยที่สมรสกับชาวอังกฤษหรือชาติอื่น
    (3) นักเรียนไทยทั้งประเภทราชการและนักเรียนทุนส่วนตัว
ร้านอาหารไทยใน สหราชอาณาจักร
ขณะนี้มีร้านอาหารไทยประมาณ 1,000 แห่งทั่วสหราชอาณาจักร ในจำนวนนี้ มีร้านอาหารไทยที่ได้รับตรา Thailand’s Brand จำนวนประมาณ 40 ร้าน และที่ได้รับตรา “Thai Select” จำนวน 15 ร้าน
วัดไทย
ขณะนี้มีวัดพุทธศาสนาสายประเทศไทยจำนวน 14 แห่งในสหราชอาณาจัร และมีพระธรรมทูตจำพรรษาอยู่ 40 รูป
     


วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2558

องค์การระหว่างประเทศ

องค์การระหว่างประเทศ


กรมองค์การระหว่างประเทศ

- ให้กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศมีภารกิจเกี่ยวกับการดำเนินการให้ความร่วมมือกับ ประชาคมระหว่างประเทศ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะมีผลกระทบต่อเสถียรภาพความมั่นคงในภูมิภาค และสังคมโลก โดยการมีบทบาทอย่างแข็งขันในเวทีระหว่างประเทศ รักษาพันธกรณีของไทยภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติและสนธิสัญญาต่างๆ ที่ไทยเป็นภาคี เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของไทยในเวทีระหว่างประเทศ และหาแนวทางในการใช้ประโยชน์จาการเป็นภาคีสนธิสัญญาและอนุสัญญาให้เกิด ประโยชน์สูงสุด โดยให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

   (1) ดำเนินการเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและท่าทีของประเทศไทยต่อองค์การสหประชาติ และองค์การระหว่างประเทศ ที่มิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของกรมใดกรมหนึ่งโดยเฉพาะ
   (2) ประสานงานเกี่ยวกับกิจกรรมด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา วิทยาศาสตร์      สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศที่มิได้กำหนดให้ เป็นหน้าที่ของกรมใดกรมหนึ่งโดยเฉพาะ
   (3) กำกับและดูแลการดำเนินการเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับองค์การสหประชาชาติและ องค์การระหว่างประเทศอื่นๆ ที่มิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของกรมใดกรมหนึ่งโดยเฉพาะและองค์กรเอกชนต่าง ประเทศให้เป็นไปโดยถูกต้องตามพันธกรณีแห่งกฎบัตรสหประชาชาติ กฎหมายระหว่างประเทศ และความตกลงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและให้สอดคล้องกับนโยบายและผลประโยชน์ของประเทศไทย
   (4) ปฏิบัติการอื่นใดที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมหรือตามที่กระทรวงหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
- ให้แบ่งส่วนราชการกรมองค์การระหว่างประเทศ ดังต่อไปนี้
   (1) สำนักงานเลขานุการกรม
   (2) กองการสังคม
   (3) กองกิจการเพื่อการพัฒนา
   (4) กองงานบริหารองค์การระหว่างประเทศ
   (5) กองสันติภาพ ความมั่นคงและการลดอาวุธ
- ส่วนราชการกรมองค์การระหว่างประเทศ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

   (1) สำนักงานเลขานุการกรม  มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปของกรมและราชการที่มิได้แยกให้เป็น หน้าที่ของกองหรือส่วนราชการใดโดยเฉพาะ โดยมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
         (ก) ปฏิบัติงานสารบรรณของกรม
         (ข) ดำเนินการเกี่ยวกับงานช่วยอำนวยการและงานเลขานุการของกรม
         (ค) ดูแลด้านงบประมาณ บุคลากรและพัสดุให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงฯ
         (ง) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
         (จ) เผยแพร่ประชาสัมพันธ์บทบาทของไทยในกรอบสหประชาชาติ และให้ความรู้เกี่ยวกับสหประชาชาติ
         (ฉ) ปรับปรุงแก้ไขข้อมูลใน website ของกรม
         (ช) ดำเนินการและประสานงานเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศของกรมและกระทรวงฯ
         (ซ) ดำเนินการและประสานงานด้านมนุษยธรรมที่เกี่ยวกับเด็ก สตรี เยาวชน คนพิการและผู้สูงอายุ

   (2) กองการสังคม มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
         (ก) ดำเนินการและประสานงานเกี่ยวกับงานคณะกรรมการ 3 ของสหประชาชาติ (ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและการโยกย้ายถิ่นฐาน)
         (ข) ดำเนินการและประสานงานเกี่ยวกับด้านสิทธิมนุษยชนในกรอบองค์การสหประชาชาติ และในเวทีระหว่างประเทศ ตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชนในประเทศเพื่อกำหนดท่า ทีไทยและเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ
         (ค) ดำเนินการและประสานงานเกี่ยวกับความร่วมมือภายใต้เครือข่ายความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security Network)
         (ง) ดำเนินการและประสานงานเกี่ยวกับประเด็นปัญหาข้ามชาติที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย
         (จ) ดำเนินการศึกษา ติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เพื่อดำเนินท่าทีของประเทศไทย
         (ฉ) ดำเนินการและประสานงานด้านมนุษยชนในกรอบของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ สหพันธ์กาชาดเสี้ยววงเดือนแดง ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
         (ช) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
   (3) กองกิจการเพื่อการพัฒนา มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
         (ก) ดำเนินการและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานของคณะกรรมการ 2 ของสหประชาชาติ (เศรษฐกิจและสังคม) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก ติดตามดูแลผลประโยชน์ของประเทศไทยและติดตามผลที่ได้รับความช่วยเหลือจากคณะ กรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก
         (ข) ประสานงานกับองค์การสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศอื่นๆที่รับผิดชอบ เกี่ยวกับงานด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาทั่วไป การโทรคมนาคมและอุตุนิยมวิทยา    การขนส่ง การอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี พลังงาน เทคโนโลยีสารสนเทศ ความร่วมมือด้านอวกาศ         และการลดภัยพิบัติทางธรรมชาติ
         (ค) เสนอข้อคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับสถานการณ์ สิ่งแวดล้อมและแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก
         (ง) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
   (4) กองงานบริหารองค์การระหว่างประเทศ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
         (ก) ดำเนินการเกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมการด้านการบริหารและงบประมาณของสมัชชาสห ประชาชาติ และประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการประชุมสหประชาชาติ และการปฏิรูปสหประชาชาติ
         (ข) ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดตั้งงบประมาณ และชำระเงินค่าบำรุงให้แก่องค์การสหประชาชาติและ  องค์การระหว่างประเทศอื่นๆที่รัฐบาลไทยมีพันธกรณี ชำระเงินค่าบำรุงให้แก่การปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ ขององค์การสหประชาชาติ และเงินบริจาคโดยสมัครใจให้แก่กองทุนต่างๆ ของสหประชาชาติ
         (ค) ดำเนินการเกี่ยวกับการวางแผนยุทธศาสตร์สมัครรับเลือกตั้งของประเทศไทยหรือ ของบุคคลสัญชาติไทยในองค์การระหว่างประเทศ และรณรงค์ขอเสียงสนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ
         (ง) ดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบสถานะ เสนอข้อคิดเห็น และความเหมาะสม ด้านการต่างประเทศขององค์กรเอกชนต่างประเทศที่ขอเข้ามาดำเนินการในประเทศไทย
         (จ) ดำเนินการและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาการให้เอกสิทธิ์ สิทธิพิเศษ และความคุ้มกันแก่องค์การระหว่างประเทศและองค์กรเอกชนต่างประเทศที่ดำเนิน การในประเทศไทย
         (ฉ) ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประชุมขององค์การระหว่างประเทศ ต่างๆ ที่มิได้กำหนดเป็นหน้าที่ของกองหรือส่วนราชการใดโดยเฉพาะ
         (ช) ดำเนินการและประสานงานเกี่ยวกับการประชุมสหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศ การเดินทางไปดูงานหรือประชุมในต่างประเทศของสมาชิกรัฐสภา และการเยือนไทยของบุคคลสำคัญหรือผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติ
         (ซ) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วนงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือได้รับมอบหมาย
   (5) กองสันติภาพ ความมั่นคงและการลดอาวุธ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
         (ก) ดำเนินการเกี่ยวกับงานคณะกรรมการ 1 (การลดอาวุธและความมั่นคงระหว่างประเทศ) และคณะกรรมการ 4 (การเมืองพิเศษและการปลดปล่อยอาณานิคม) ดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาการเมือง สันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศภายในกรอบขององค์การสหประชาชาติและองค์การ ระหว่างประเทศที่มิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของกรมใดกรมหนึ่งเฉพาะ
         (ข) ดำเนินการเกี่ยวกับงานของคณะมนตรีความมั่นคง และงานประชุมของคณะกรรมการประสานงานว่าด้วยการปฏิบัติการักษาสันติภาพของสห ประชาชาติ และคณะอนุกรรมการว่าด้วยนโยบายการเมืองด้านองค์การระหว่างประเทศ
         (ค) ประสานงานกับองค์การสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศซึ่งรับผิดชอบงาน ด้านลดและควบคุมอาวุธ การต่อต้านการก่อการร้ายภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ การรักษาสันติภาพ การคว่ำบาตร การชดใช้ค่าเสียหาย และการปลดปล่อยอาณานิคม
         (ง) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย